ถ้าถามว่า...เพศสัมพันธ์แบบไหนปลอดภัยที่สุด คำตอบก็คือต้องไม่มีเพศสัมพันธ์เลยนั่นแหละปลอดภัยที่สุด อย่างที่ภาษาอังกฤษว่า "โน เซ็กส์ อีส เซฟ เซ็กส์" (No Sex is Safe Sex) แต่จะมีสักกี่คนที่อดใจไหว ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยแทน
ถุงยางอนามัย (Condom) ได้รับการออกแบบให้บางเฉียบ แต่มีประสิทธิภาพในการใช้เป็นอย่างดี มีความปลอดภัยสูง ผิวภายนอกยังเคลือบด้วยสารหล่อลื่น บางชนิดเคลือบด้วยสารที่ฆ่าอสุจิด้วยจึงสามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ ป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ตลอดจนเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย ปัจจุบันผู้ผลิตยังลดความรังเกียจและเพิ่มความชื่นชอบให้แก่ผู้ใช้โดยการจัดทำถุงยางอนามัยหลากสีสัน ปรุงแต่งกลิ่นรสให้ถูกอกถูกใจมากกว่ากลิ่นรสของยางธรรมชาติแบบเดิมๆ และไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองขณะสวมใส่
โดยทั่วไปถุงยางอนามัยที่ผลิตขึ้นภายใต้ ISO 4074 จะมีเกณฑ์การพบรูรั่วเพียง 0.2-0.4% เท่านั้น (ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับของการผลิตถุงยางอนามัย)...จากการศึกษาวิจัยในห้องทดลองยืนยันแล้วว่าเชื้อ HIV และตัวอสุจิไม่สามารถเล็ดลอดผ่านถุงยางอนามัยออกมาได้แน่นอน
ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกๆ ครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ก็จะสามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ การติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องยึดหลักการ "โน คอนดอม โน เซ็กส์" (No Condom No Sex) ไว้อย่างเหนียวแน่นเพื่อความปลอดภัย
แต่จะทำอย่างไร ถ้าท่านใช้ถุงยาง-อนามัยจนเสร็จกิจแล้วจึงพบว่า ถุงยางรั่วหรือแตก...ก่อนอื่น อย่าตกใจกลัวจนเกินไป ตั้งสติให้ดี ผลของถุงยางรั่วที่ทำให้เรากลัวและกังวลใจมากๆ มีอยู่ 2 กรณี ได้แก่
1. กลัวการตั้งครรภ์ (ที่ไม่พึงประสงค์)
2. กลัวการติดเชื้อ HIV
โดยมีข้อปฏิบัติในแต่ละกรณีดังนี้
กรณีที่ 1 การตั้งครรภ์
ไปพบสูตินรีแพทย์โดยเร็วเพื่อขอคำปรึกษาและตรวจสอบโอกาสในการตั้งครรภ์เบื้องต้น ถ้าพบว่ามีโอกาสในการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์แล้ว แพทย์อาจจะช่วยเหลือเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์โดยเร็วที่สุด
กรณีที่ 2 การติดเชื้อ HIV
รีบไปพบแพทย์สาขาโรคติดเชื้อให้เร็วที่สุด (ภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการมีเพศ-สัมพันธ์ที่พบว่าถุงยางรั่วหรือแตก) จะได้ผลดีที่สุด
1. แพทย์ขอเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อ HIV (ซึ่งจะรู้ผลภายใน 2 ชั่วโมง) เพื่อเป็นพื้นฐานว่าคุณเคยติดเชื้อ HIV มาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่พบเชื้อ HIV แพทย์จะให้เริ่มกินยาต้านไวรัสเอดส์ซึ่งจะต้องกินยานี้ติดต่อกันไปตลอด 28 วัน
และจะเป็นการดีที่สุดถ้าคุณสามารถพาคู่ร่วมเพศมาเจาะเลือดตรวจด้วย ถ้าพบว่าคู่ร่วมเพศไม่มีเชื้อ HIV คุณก็สบายใจได้ว่าปลอดภัย ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส แพทย์จะให้เริ่มกินยาต้านไวรัสเอดส์ หรือถ้ากินไปแล้ว (ก่อนที่จะตามคู่ร่วมเพศมาตรวจได้) ก็หยุดกินยาได้ทันทีเมื่อตรวจพบว่าคู่ร่วมเพศปลอดภัยแล้ว...แต่ถ้าพาคู่ร่วมเพศมาตรวจไม่ได้ หรือตามหาตัวไม่ได้ หรือพบว่าคู่ร่วมเพศมีเชื้อ HIV คุณก็จะต้องกินยาต้านไวรัสเอดส์ไปจนครบ 28 วันตามแพทย์สั่ง
2. พร้อมกับการตรวจหาเชื้อ HIV นั้น แพทย์จะตรวจหาเชื้ออีก 2 ชนิดซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับโรคเอดส์ คือ
2.1 เชื้อตับอักเสบชนิด B เพื่อตรวจหาว่าคุณมีภูมิต้านทานโรคตับอักเสบชนิด B หรือไม่ ถ้าไม่มี แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันให้เลย
2.2 เชื้อตับอักเสบชนิด C เพื่อตรวจหาว่าคุณมีภูมิต้านทานโรคตับอักเสบชนิด C หรือไม่ ถ้าไม่มีและพบว่าคุณกำลังเป็นโรคนี้ แพทย์จะให้การรักษาทันที (เพราะโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน)
3. จากนั้นแพทย์จะนัดคุณมาพบอีกทุก 3 เดือน ดังนี้
เดือนที่ 3 ให้มาตรวจเลือดหาเชื้อ HIV ตับอักเสบชนิด B ตับอักเสบชนิด C
เดือนที่ 6 ให้มาตรวจเลือดหาเชื้อ HIV
เมื่อแพทย์ได้ตรวจติดตามคุณมาตลอด 6 เดือนแล้วไม่พบเชื้อ HIV คุณก็สบายใจได้ว่าปลอดภัยแน่นอน ข้อปฏิบัติเหล่านี้ คุณสามารถใช้ได้ในกรณีอื่นด้วย เช่น กรณีที่ถูกข่มขืน กรณีถูกเข็มฉีดยาหรือของมีคมบาด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่า การสวมถุงยางอนามัยคงเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่สามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์และการติดเชื้อ HIV ดังนั้น No Condom No Sex เถอะนะ...ขอร้อง
ผศ.ดร. จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ที่มา
http://www.koosangkoosom.com